ภาพจาก : Golf Photographer / shutterstock.com
ปรกติชาวพุทธจะตักบาตรในตอนเช้าของทุกวัน แต่ในวันออกพรรษาทำไมจึงตักบาตรในวัดและเรียกการตักบาตรนี้ว่า “ตักบาตรเทโว หรือ เทโวโรหณะ “ จริงๆ แล้วที่มาของประเพณีตักบาตรเทโว คงต้องเริ่มที่เมืองสังกัสสนครก่อน เพราะเหตุใด เพราะเรื่องราวเริ่มขึ้นสมัยปฐมโพธิกาล ต้นความเดิมมีอยู่ว่า ในวันเพ็ญเดือนแปด พระพุทธเจ้าจักทรงทำปาฏิหาริย์ ณ เมืองสาวัตถี ที่ควงไม้คัณฑามพพฤกษ์ (ควงไม้มะม่วง) เพื่อข่มและทำลายความเห็นผิดของเหล่าเดียรถีย์ ณ ที่แห่งนี้เป็นสถานที่ทำมหาปาฏิหาริย์ของพระพุทธเจ้า ปาฏิหาริย์ที่พระองค์ทรงแสดงมีชื่อว่า “ยมกปาฏิหาริย์” (ยะ-มะ-กะ-ปา-ติ-หาน)
ยมก แปลว่า คู่หรือสอง เป็นการแสดงคู่ น้ำคู่กับไฟ คือมีท่อน้ำใหญ่พุ่งออกจากพระกายเบื้องบนของพระองค์ เปลวไฟพุ่งเป็นลำออกจากพระกายเบื้องล่าง สลับกันไป ท่อไฟที่พุ่งออกนั้นมีฉัพพรรณรังสี คือมี 6 สีสลับกัน ครั้งเมื่อกระทบกับสายน้ำมีแสงสะท้อนสวยงามมาก
ปาฏิหาริย์ คือการแสดงให้คนเห็นเป็นที่อัศจรรย์ ซึ่งสามัญชนหรือคนที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนแสดงไม่ได้ หรือแสดงได้ก็เป็นแต่เพียงการเล่นกลธรรมดาเท่านั้น
ในกาลเดียวกันนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเสด็จขึ้นสู่ที่จงกรม (ทรงแบ่งภาคด้วยว่า) พุทธนิรมิตย่อมยืนหรือนั่งหรือสำเร็จการนอน, ครั้งพระผู้มีพระภาคทรงประทับยืน พุทธนิรมิตย่อมจงกรมนั่งหรือสำเร็จการนอน, เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทับนั่ง พุทธนิรมิตย่อมจงกรมยืนหรือสำเร็จการนอน, พระผู้มีพระภาคทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ พุทธนิรมิตย่อมจงกรมยืนหรือนั่ง ฯลฯ ด้วยประการฉะนี้เป็นต้น
หลังพระองค์แสดงยมกปาฏิหาริย์แก่มหาชนทั้งหลายแล้ว ทรงรำพึงอยู่ว่าจะจำพรรษาที่ไหนหนอแล ทรงเห็นว่า ควรจำพรรษาในภพดาวดึงส์เพื่อโปรดพระมารดา ซึ่งนับเป็นวาระอันสมควรสำหรับแสดงอภิธรรมหรือก็คือพระธรรมเจ็ดคัมภีร์ แก่พุทธมารดาตลอดทั้ง 3 เดือนเต็ม
มหาชนผู้มาเฝ้าอยู่จำนวนมาก พอเห็นพระศาสดาลับตาไป เพียรเฝ้าถามแต่พระเถระทั้งหลายจนได้ความว่า พระองค์ทรงเสด็จไปจำพรรษาที่บัณฑุกัมพลศิลาเพื่อโปรดพุทธมารดา หลังครบสามเดือนแล้วจักเสด็จกลับมาในวันมหาปวารณา มหาชนเหล่านั้นตัดสินใจพากันพำนักอยู่ที่เมืองสังกัสสนคร จึงเป็นที่มาของการถือศีลอุโบสถ ครั้งอีก 7 วันครบกำหนดวันมหาปวารณาคือวันออกพรรษา ต่างฝ่ายต่างตระเตรียมอย่างใจจดใจจ่อเพื่อรอเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
เมื่อทรงจำพรรษาครบสามเดือนแล้ว หลังกล่าวคำปวารณาทรงมีพระประสงค์จักเสด็จกลับสู่ถิ่นมนุษย์ ในครั้งนั้นท้าวสักกะเทวราชผู้เป็นใหญ่ในเทวดาทั้งหลายได้จัดขบวนส่งเสด็จพระพุทธเจ้าด้วยการเนรมิตบันไดเป็นที่ลงจากเทวโลกไว้ถึง 3 ชนิด มีบันไดทองคำ บันไดแก้วมณี บันไดเงิน เชิงบันไดทั้งสามชนิดนั้นปรากฏตั้งอยู่ที่ประตูเมืองสังกัสสนคร ส่วนหัวบันไดปรากฏตั้งอยู่ที่ยอดเขาสิเนรุ บรรดาบันไดเหล่านั้น บันไดทองได้มีในข้างเบื้องขวาเป็นทางลงสำหรับเทวดาทั้งหลาย บันไดเงินได้มีในข้างเบื้องซ้ายสำหรับเป็นทางลงของท้าวมหาพรหมทั้งหลาย ส่วนบันไดแก้วมณีได้มีในท่ามกลางเป็นทางเสด็จลงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก่อนเสด็จลงจากดาวดึงส์พระพุทธองค์ทรงแลดูข้างบนแล้ว สถานที่ๆ ทรงแลดูแล้วนั้นได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนจรดถึงพรหมโลก เมื่อทรงแลดูข้างล่าง สถานที่ๆ ทรงแลดูอยู่นั้นได้มีเนินเป็นอันเดียวกันจนจรดถึงอเวจี ในวันนั้นโลกทั้งสาม คือ สวรรค์ โลกมนุษย์และนรก กลับปรากฏให้เห็นเฉพาะหน้าทีเดียว หมู่เทวดามองเห็นหมู่มนุษย์ทั้งหลาย หมู่มนุษย์ทั้งหลายมองเห็นหมู่เทวดาทั้งหลาย สัตว์ในนรกกลับมองเห็นหมู่เทวดาทั้งหลายและหมู่มนุษย์ทั้งหลาย แม้หมู่เทวดาและหมู่มนุษย์ก็สามารถมองเห็นแดนนรกได้ดุจเดียวกัน ทั้งสามภพมองเห็นซึ่งกันและกันในวันนั้นทีเดียว
พระพุทธเจ้าทรงแสดงปาฏิหาริย์ในวันเปิดโลกให้ปรากฏเห็นพร้อมกัน เพื่อให้ทุกดวงวิญญาณที่มาจุติบนมนุษย์โลกชื่อในผลของกรรม บุคคลผู้กระทำความดีสั่งสมความดีย่อมไปสุคติคือโลกสวรรค์ เสวยผลอันเป็นทิพย์ที่ตนได้กระทำมา ส่วนบุคคลผู้กระทำความชั่วสั่งสมบาปซึ่งเป็นผลของอกุศลกรรมย่อมไปตกนรก รับโทษทัณฑ์ที่ตนกระทำในนรกภูมิ ฉะนั้นผู้ที่ถือกำเนิดมาเป็นมนุษย์ได้จึงถือว่าประเสริฐสุด เพราะสามารถทำความดีทำกุศลได้มากกว่าสิ่งที่มีชีวิตอย่างอื่นบนโลก ดังนั้นแล้ว แดนมนุษย์จึงชื่อว่าเป็นสถานที่เป็นเครื่องวัดผลของบุญและผลของบาป ในวันนี้จึงเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจสำหรับมนุษย์ให้ละบาปบำเพ็ญบุญ ให้มนุษย์รู้จักกลัวในบาป เพราะกรรมชั่วอันตนกระทำย่อมติดตามตนไปทั้งภพนี้และภพหน้า พุทธปาฏิหาริย์ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภพภูมิมีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่สามารถนำมาให้ปรากฏเห็นได้
ในขณะที่พระพุทธองค์กำลังเสด็จลงจากเทวโลกนั้น เทพบุตรนำโดยเทพบุตรชื่อปัญจสิขะ ถือพิณสีเหลืองดุจผลมะตูมทำการบูชาด้วยการฟ้อนอยู่ทางข้างเบื้องขวา ส่วนมาตลิสังคาหกเทพบุตรยืน ณ ข้างเบื้องซ้ายถือของหอมระเบียบและดอกไม้ทิพย์กระทำนมัสการอยู่ ท้าวมหาพรหมกั้นฉัตร ท้าวสุยามถือพัดวาลวัชนี พระศาสดาเสด็จลงมาสู่แดนมนุษย์พร้อมด้วยเทพยดาหมู่ใหญ่เห็นปานนี้ อันว่าสถานที่ๆ พระบาทเบื้องขวาประดิษฐาน ณ ที่ลงเสด็จนั้นมีนามว่าอจลเจติยสถาน ลำดับนั้นมหาชนเป็นจำนวนมากที่มารออยู่ในเมืองสังกัสสนครต่างชื่นชมยินดีปราโมทย์ ครั้นเมื่อได้เห็นพระพุทธเจ้าซึ่งทรงประทับอยู่ที่ประตูนคร พุทธศาสนิกชนจึงเรียกวันปวารณาออกพรรษานี้ว่า “เทโวโรหณะ” แปลว่า กาลเป็นที่ลงจากเทพเทวดา หรือหมายถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์พร้อมด้วยหมู่เทพเทวาทั้งหลายผู้สถิตย์อยู่ทั่วทั้งเทวโลก ปัจจุบันชาวพุทธมักจะเห็นภาพเขียนตามผนังโบสถ์ วิหารหรือศาลา นั่นคือภาพที่สื่อเรื่องราวของวันปวารณาออกพรรษาหรือวันเทโวโรหณะ
ยามนั้นมหาชนที่มาเฝ้าได้พร้อมใจกันทำบุญตักบาตรเป็นจำนวนมากสุดจะประมาณ พิธีที่กระทำกันในการตักบาตรเทโวถ้าถือตามประวัติเท่ากับเป็นการทำบุญรับเสด็จพระพุทธเจ้าในคราวเสด็จลงจากเทวโลกนั่นเอง บางวัดจึงมีการเตรียมพิธีในงานวันนี้โดยให้คฤหัสถ์แต่งตัวเป็นเทวดาบ้าง พรหมบ้าง จากนั้นอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นประดิษฐานบนบุษบกที่มีล้อเลื่อน นำบาตรตั้งอยู่ข้างหน้าพระพุทธรูปแล้วใช้คนลากนำหน้าขบวนพระสงฆ์อย่างพุทธกาล ส่วนอาหารที่นำมามีทั้งอาหารคาวหวาน ข้าวสารอาหารแห้ง โดยเฉพาะข้าวต้มมัดใต้ ข้าวต้มลูกโยน ที่ห่อด้วยใบมะพร้าวหรือใบลำเจียกไว้หางยาว อีกหนึ่งเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับข้าวต้มลูกโยนคือมีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว เนื่องจากมหาชนบางเหล่าตั้งใจจะเข้าไปใส่บาตร แต่เพราะมีมหาชนหมู่ใหญ่จำนวนมากจึงได้แต่อธิษฐานแล้วโยนไปให้ลงในบาตรของพระพุทธเจ้า ทุกวันนี้พอถึงวันออกพรรษาชาวบ้านที่นับถือพุทธศาสนาจะเตรียมห่อข้าวต้มลูกโยนกันมาใส่บาตร นัยว่าเพื่อเป็นการระลึกถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงเปิดโลกทั้งสาม ทั้งพระสงฆ์ที่ปฏิบัติมาครบตลอดไตรมาสเมื่ออธิษฐานออกพรรษาแล้วจัดบิณฑบาตเป็นคณะ ให้ชาวพุทธตักบาตรเทโว ต่างก็ระลึกถึงพระพุทธเจ้ากัน เป็นการระลึกถึงว่าโลกนี้มีบุญและบาป มีกรรมเป็นของตน มีภพนี้และภพหน้า
ส่วนที่มาของข้าวกระยาทิพย์ที่น่ารู้อีกอย่างก็คือเป็นขนมชนิดหนึ่งที่ไม่ธรรมดา จะเริ่มทำในวันก่อนออกพรรษา 1 วัน คือวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 โดยบางวัดที่มีการทำข้าวกระยาทิพย์จะประกาศให้ชาวบ้านในละแวกวัดนั้นๆ นำวัตถุดิบต่างๆ มา ขณะที่ทางวัดนำโดยคณะอุบาสกอุบาสิกาจะลงมาตระเตรียมอุปกรณ์วัตถุดิบต่างๆ อย่างเช่นขั้นตอนการขูดมะพร้าว ปอกเปลือกผลไม้ มีคั่วถั่ว งา เป็นต้น นำมาบดหรือนำมาตำ ละลายน้ำกะทิกรองเอาแต่น้ำ ในหมู่บ้านที่มีคนมากจะนำวัตถุดิบมีแป้งกับกะทิมามาก จนได้เวลาประมาณบ่าย 2-3 โมง ก็ให้นำหญิงพรหมจารีที่คัดเลือกมาจากเด็กหญิงที่ยังไม่มีประจำเดือนมาจำนวน 4 คน (ว่าเป็นตัวแทนของนางสุชาดาผู้นำข้าวมธุปายาสมาถวายพระพุทธเจ้า) เพื่อนำมาบวชชีพราหมณ์โดยพระสงฆ์เป็นผู้บวชให้ พอบวชเสร็จจะเป็นผู้นำขบวนแห่ เด็กหญิงทั้ง 4 ถือไม้พายกวนข้าวทิพย์และฟืนก่อไฟคนละ 1 ดุ้น ขบวนผู้หญิงหาบหามน้ำปรุงข้าวทิพย์ 4 ถัง ขบวนกลองยาวแห่รอบโบสถ์ 3 รอบ ในขณะที่แห่วนรอบโบสถ์พระสงฆ์สวดมนต์กล่าวคาถา แล้วค่อยลั่นฆ้องลั่นกลองจนครบสามรอบ หญิงพรหมจรรย์จะเป็นผู้เริ่มต้นกวนเป็นพิธี หลังจากนั้นก็ให้กลุ่มแม่บ้านและเยาวชนกวนต่อไป แล้วนำนางมาลาสิกขาบท ข้าวทิพย์เป็นสิ่งที่เทวดาเตรียมตักบาตรถวายแด่พระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์ในคราวนั้น ฉะนั้นกรรมวิธีจึงต้องให้หญิงที่บริสุทธิ์หรือมีศีลเป็นผู้ทำต่างว่าเป็นเหล่าเทวดาอีกด้วย นับว่าเป็นขนมหายากและปีหนึ่งจะมีทำครั้งเดียว พอทำเสร็จนำไปถวายพระในวันรุ่งขึ้นซึ่งเป็นเช้าของวันออกพรรษา 15 ค่ำ เดือน 11 แต่ละบ้านจะนำข้าวกระยาทิพย์กลับมาคนละเล็กละน้อยเพื่อความเป็นสิริมงคล
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของการตักบาตรเทโวของชาวพุทธที่เริ่มต้นมาแต่ครั้งพุทธกาล คราวนี้คงหมดข้อสงสัยเกี่ยวกับการตักบาตรเทโวและเรื่องราวเกี่ยวกับข้าวต้มมัด ข้าวต้มลูกโยนและข้าวกระยาทิพย์ซักทีนะ