วัดทุ่งยาว

พระควัมปติ

ทิศพายัพ หรือทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พระอรหันต์ประจำทิศคือพระควัมปติ หรือพระมหากัจจายนะ ซึ่งเป็นเอตทัคคะเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายเป็นยอดในการจำแนกคำที่ย่อให้กว้างขวาง
พระควัมปติเป็นบุตรปุโรหิตของพระเจ้าจัณฑปัชโชต ในกรุงอุชเชนี เมื่อเจริญวัยขึ้นเรียนจบไตรเพท ต่อมาเมื่อบิดาเสียชีวิตแล้วได้รับตำแหน่งปุโรหิตในราชสำนัก สืบตำแหน่งแทนบิดา ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าจัณฑปัชโชตได้ทรงทราบว่าพระศาสดาทรงตรัสรู้แล้ว ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้นเป็นธรรมที่แท้จริง ยังประโยชน์ให้สำเร็จแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติตาม มีความประสงค์จะทูลเชิญพระบรมศาสดาไปเพื่อประกาศพระศาสนายังกรุงอุชเชนี จึงตรัสสั่งกัจจายนปุโรหิตไปทูลเชิญเสด็จ ข้างฝ่ายกัจจายนะปุโรหิตมีความประสงค์จะทูลลาบวชด้วย ครั้นได้รับพระบรมราชานุญาติแล้วจึงออกจากกรุงอุชเชนีพร้อมกับผู้ติดตามอีกเจ็ดคน ได้เดินทางไปเฝ้าพระศาสดาและได้ฟังพระธรรมเทศนาจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ จึงทูลขออุปสมบทในเวลาต่อมา
เมื่อได้อุปสมบทเสร็จแล้วจึงทูลเชิญอาราธนาพระศาสดาเสด็จไปเยือนยังกรุงอุชเชนีตามพระราชประสงค์ของพระเจ้าจัณฑปัชโชต พระพุทธองค์ทรงรับสั่งว่าเธอไปกันเองเถิด เมื่อเธอทั้งหลายไปถึงแล้ว พระเจ้าจัณฑปัชโชตจักทรงเลื่อมใส ท่านพร้อมเพรียงด้วยภิกษุทั้งเจ็ดรูปนั้นจึงกราบบังคมทูลลากลับสู่กรุงอุชเชนี และได้แสดงธรรมประกาศพระพุทธศาสนาให้พระเจ้าจัณฑปัชโชตและชนชาวพระนครถึงความเลื่อมใส
พระควัมปติเป็นผู้ฉลาดในการอธิบายความแห่งคำย่อให้พิสดาร มีอยู่วันหนึ่งพระศาสดาทรงแสดงภัทเทกรัตตสูตรโดยย่อแล้วเสด็จลุกเข้าไปสู่วิหารที่ประทับ ภิกษุทั้งหลายยังไม่เข้าใจเนื้อความสักเท่าใดและยังไม่ได้โอกาสทูลถามจึงได้อาราธนาพระเถระให้ท่านอธิบายบทเทศนาให้ฟัง พระเถระได้ขยายความแห่งพระสูตรนั้นโดยพิสดารแล้วจึงกล่าวว่า เราเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงแสดงแล้วตามความละเอียดและกว้างขวางอย่างนี้ ถ้าท่านใดยังไม่เข้าใจก็จงเข้าไปเฝ้าพระศาสดาแล้วกราบทูลเนื้อความนั้นเถิด และถ้าพระองค์ทรงอธิบายธรรมเทศนาอย่างไรก็จงจำไว้อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลายเข้าไปกราบทูลถามเนื้อความนั้นให้กับพระศาสดาทรงทราบ พระองค์ทรงตรัสสรรเสริญพระมหากัจจายนะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัจจายนะเป็นคนมีปัญญา ถ้าพวกเธอถามเนื้อความแห่งธรรมนั้นแก่เรา แม้เราก็คงอธิบายจำแนกแจกธรรมตามเนื้อความนี้อย่างนั้นเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ผู้จำแนกเนื้อความที่เรากล่าวไว้โดยย่อให้พิสดาร
พระมหากัจจายนะนั้นมีอีกชื่อหนึ่งว่าพระควัมปติ แต่มหาชนไม่นิยมเรียกเพราะชื่อไปซ้ำเข้ากับพระสหายของพระยสะ จึงคงเรียกตามสกุลเดิมของท่านว่าพระมหากัจจายนะ ที่เติมมหาเข้าไปเพราะท่านเป็นพระเถระชั้นมหาสาวกเช่นเดียวกับพระมหากัสสปะ หรือพระมหาโมคคัลลานะ เดิมท่านมีรูปงามมาก มีผิวเหลืองดุจทอง ทำให้ภิกษุอื่นๆ เห็นท่านแต่ที่ไกลมักเข้าใจผิดเสมอคิดว่าพระศาสดากำลังเสด็จมา จึงพากันลุกขึ้นยืนต้อนรับ ครั้นเมื่อท่านเข้ามาใกล้จึงประจักษ์ชัดว่าเป็นพระมหากัจจายนะ ต่อมาได้พากันเรียกท่านว่าภคัมปติ แปลว่าเหมือนพระผู้มีพระภาค เมื่อท่านทราบเรื่องนี้เข้าเกรงว่าจะเป็นโทษซึ่งพาให้ผู้คนทั้งหลายเข้าใจผิด จึงได้อธิษฐานเปลี่ยนรูปด้วยอำนาจแห่งฌานอภิญญา รูปของท่านเปลี่ยนมาท้องยุ้ยไม่งามเหมือนเช่นก่อน แต่เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีคงเดิม ต่อมาชาวพุทธในยุคสมัยหนหลังได้สร้างรูปพระอ้วนลงพุงเพื่อเป็นการสักการะบูชาบารมีท่านเรียกในนามว่า พระสังกัจจายน์
ตามความในมธุรสูตรว่าท่านอยู่มาถึงภายหลังแต่การปรินิพพานแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหตุที่ทราบเช่นนี้เพราะเรื่องราวในขณะที่ท่านได้ทำหน้าที่เผยแพร่พระพุทธศาสนาไปยังแคว้นอวันตี เมื่อพระมหากัจจายนะอยู่ที่คุนธาวัน แขวงมธุรราชธานี พระเจ้ามธุรราชอวันตีบุตรเสด็จเข้าไปหาตรัสถามถึงเรื่องที่พวกพราหมณ์ถือว่าวรรณะพราหมณ์ของตนนั้นประเสริฐที่สุด วรรณะอื่นเลว วรรณะพราหมณ์เป็นวรรณะบริสุทธิ์ที่สุด วรรณะอื่นย่อมมีมลทิน วรรณะพราหมณ์เกิดขึ้นจากพรหมเป็นบุตรแห่งพรหม ท่านเข้าใจความหมายเหล่านี้ว่าอย่างไร พระมหากัจจายนะทูลตอบว่านั้นเป็นเพียงคำอ้างของเขา ท่านชักอุทาหรณ์ให้เห็นว่าวรรณะทั้งสี่เสมอกัน ไม่ต่างอะไรกัน (ตามธรรมเนียมชาวอินเดียแบ่งคนอยู่ตามวรรณะ มีพราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ ศูทร มีหน้าที่ทางสังคมแตกต่างกันไป) โดยยกอุทาหรณ์แสดงเป็นหัวข้อว่า
1. วรรณะใดมั่งมี วรรณะอื่นก็ย่อมเป็นคนรับใช้ของวรรณะนั้น
2. วรรณะใดประพฤติชั่วทางกาย วาจา ใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไปย่อมตกนรก เข้าสู่อบายเสมอกันหมด
3. วรรณะใดประพฤติดีทางกาย วาจา ใจ วรรณะนั้นเมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติโลกสรรค์เหมือนกันหมด
4. วรรณะใดทำโจรกรรม ลักขโมย คดโกง ประพฤติผิดในกาม วรรณะนั้นต้องถูกลงโทษเหมือนกันหมด
5. วรรณะใดออกบวช ตั้งอยู่ในศีลในธรรม วรรณะนั้นย่อมได้รับความนับถือ ได้รับการบำรุงและได้รับการคุ้มครอง อันเป็นธรรมเสมอกัน
ท่านแสดงให้เห็นถึงผลของการประพฤติดีชั่วไม่เกี่ยวกับการกำเนิดแต่ขึ้นอยู่กับความประพฤติตน ครั้นพระเจ้ามธุรราชได้สดับฟังแล้วพิจารณาตามก็บังเกิดความเลื่อมใส แสดงพระองค์เป็นอุบาสก ถึงพระเถรเจ้า พระธรรมและพระสงฆ์ว่าเป็นสรณะ พระเถรเจ้าทูลห้ามว่าอย่าถือท่านเป็นสรณะเลย จงถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นสรณะของอาตมาภาพเป็นสรณะเถิด นับเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายหลังที่พระบรมศาสดาทรงปรินิพพานแล้ว
พระมหากัจจายนะได้ทำประโยชน์ของตนให้สำเร็จด้วยการบรรลุพระอรหัตผล และยังได้ทำหน้าที่ประกาศพระศาสนาตลอดกาลของท่านให้กว้างไกล ทั้งยังมีปีติดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุขอันเกิดจากอรหัตผลเสมอมา จวบจนท่านดำรงชนมายุสังขารอยู่โดยสมควรแก่กาลเวลาแล้ว ในที่สุดได้นิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ตามคติทางพระพุทธศาสนาได้จัดให้พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์เป็นพระปางประจำราหู และกำหนดบทสวดบทกินนุสันตะระมาโนวะเป็นบทสวดประจำพุธกลางคืน ควรสวด 12 จบเพื่อคุ้มภัยให้สิ่งร้ายกลายเป็นดี ส่วนทางโหราศาสตร์ตรงกับนพเคราะห์คือพระราหู ซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งขุมทรัพย์มีอำนาจบารมีเป็นที่เกรงกลัว ผู้ใดอยากมีโชคลาภบารมีต้องบูชาพระราหู และได้จัดคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์พลิกแผ่นดินเป็นคาถาประจำราหูคือ คะ พุท ปัน ทู ทัม วะ คะ
บรรดาเกจิอาจารย์ทั้งในสมัยอดีตและปัจจุบันท่านได้เห็นถึงคุณวิเศษในการบูชาพระสังกัจจายน์ หรือพระภควัมปติ ท่านเหล่านั้นจึงสร้างรูปบูชาในแบบบูชาและแบบห้อยคอ มีอยู่สองลักษณะคือเป็นพระอ้วนพุงพลุ้ยปิดตาทั้งสองข้างหรือปิดทวารทั้งเก้า ในวงการพระเครื่องเรียกว่าพระปิดตา ส่วนในแบบเป็นพระอ้วนพุงพลุ้ยไม่ได้ปิดตาและปิดทวารใดๆ นิยมสร้างเป็นรูปบูชาเรียกว่าพระสังกัจจายน์ ซึ่งทั้งสองลักษณะได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการอธิษฐานขอโชคลาภ

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

พระสารีบุตร

ทิศใต้ ทิศทักษิณ พระอรหันต์ประจำทิศได้แก่พระสารีบุตร เป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าภิกษุ ท. ในทางมีปัญญามาก แม้เม็ดทรายหนึ่งกำมือก็สามารถนับได้ ชื่อเดิมของท่านนั้นชื่อว่าอุปติสสะ

Read More »

พระอุบาลี

กล่าวมาถึงลูกนิมิตลูกที่สี่กันแล้ว หวังว่าผู้ที่ให้ความสนใจก็คงพอจะรู้ทั้งประวัติและบารมีของพระอรหันต์ซึ่งประจำแต่ละทิศ ถือได้ว่าท่านเหล่านั้นก็ยังเป็นเลิศกว่าพระอรหันต์ผู้เป็นเลิศอีก เพราะพระอรหันต์ผู้เป็นเลิศต่างๆ มีถึง 80 องค์ เหตุที่โบราณาจารย์ได้อัญเชิญบารมีพระอรหันต์

Read More »
  • ค้นหา

เรื่องราวยอดนิยม
thไทย