กล่าวมาถึงลูกนิมิตลูกที่สี่กันแล้ว หวังว่าผู้ที่ให้ความสนใจก็คงพอจะรู้ทั้งประวัติและบารมีของพระอรหันต์ซึ่งประจำแต่ละทิศ ถือได้ว่าท่านเหล่านั้นก็ยังเป็นเลิศกว่าพระอรหันต์ผู้เป็นเลิศอีก เพราะพระอรหันต์ผู้เป็นเลิศต่างๆ มีถึง 80 องค์ เหตุที่โบราณาจารย์ได้อัญเชิญบารมีพระอรหันต์ 8 องค์ จาก 80 องค์ มาสถิตยังทิศทั้ง 8 เพื่อแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ชัดทั้งบารมีและคำอธิษฐาน แต่ที่จริงแล้วก็ได้อัญเชิญบารมีของพระอรหันต์ทั้ง 80 องค์มาสถิต ณ ที่แห่งนี้ด้วยเช่นกัน
การร้อยเรียงเรื่องราวของพระอรหันต์ทุกองค์ทั้งชีวประวัติ ธรรมะ บารมีและเกียรติคุณให้ครบถ้วนเนื้อความนั้นเป็นไปได้ยากอยู่ เพราะเนื้อความที่นำมาล้วนอยู่ในพระสูตร พระอภิธรรมและพระวินัย เพียงได้นำบางบทบางตอนมากล่าวเท่านั้น ไม่อาจนำเนื้อความอันลึกซึ้งมาบรรยายได้ทั้งหมด ทำให้คิดไปถึงว่าโบราณกาลคณาจารย์ทั้งหลายท่านรวบรวมเก็บรักษาพระคัมภีร์กันอย่างไรจวบจนกระทั่งมาถึงยุคนี้ ทั้งที่พระคัมภีร์เหล่านี้มีมากพอที่จะบรรจุลงได้ถึงสิบหีบ ทั้งยังผ่านภัยพิบัติต่างๆ ภัยสงคราม ภัยธรรมชาติและกาลเวลาอันยาวนานกว่าสามพันปี ทำให้เห็นเป็นความอัศจรรย์ยิ่งนัก ดังนั้นข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อครูบาคณาจารย์ทุกองค์ที่นำหลักชัยของพระพุทธศาสนาข้ามกาลเวลามาสู่ยุคสมัยในสังคมปัจจุบันนี้ อาจารย์ย่อมปรารถนาอนาคตที่ดีงามของศิษย์ ย่อมอยากเห็นความไพฑูรย์ของศิษย์ เป็นสิ่งที่ท่านมองจากอดีตหลายพันปีก่อนไกลไปในอนาคตเพื่อมาสู่ปัจจุบัน
แต่เรื่องราวของพระอุบาลีเป็นอดีตที่ไกลท่านออกไปอีก ย้อนกลับไปในสมัยแห่งพระพุทธเจ้าทรงนามว่าปทุมุตตระ ท่านได้บังเกิดในตระกูลพราหมณ์อันบริบูรณ์ด้วยทรัพย์สมบัติ วันหนึ่งได้ยินว่าพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลก เสาะหาหนทางเข้าไปฟังธรรมที่ทรงแสดงโปรดพุทธบิดา มีมหาชนหลั่งไหลเข้ามาล้อมอาณาบริเวณประมาณหนึ่งโยชน์โดยรอบ ทรงแสดงธรรมเจ็ดวันเจ็ดคืน ครั้นถึงวันที่แปดได้ทรงพยากรณ์ดาบสรูปหนึ่งว่าในแสนกัปจากนี้ไปจะเกิดเป็นพุทธสาวกในตำแหน่งเลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย เกิดความเลื่อมใสศรัทธาปรารถนาฐานันดรเช่นกัน ก็ตั้งความปรารถนาให้ได้ตำแหน่งผู้เลิศในวินัย จึงได้สั่งสมบุญบารมีมาตลอดหลายพุทธันดร สมความปรารถนาในสมัยของพระสมณโคดม
ทิศหรดี หรือทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระอรหันต์ประจำทิศคือพระอุบาลี ซึ่งเป็นเอตทัคคะในด้านการทรงพระวินัย เป็นหนึ่งในพระเถระที่มีความสำคัญยิ่งท่านหนึ่ง แต่เดิมพระอุบาลีเป็นบุตรของนายช่างกัลบกในนครกบิลพัสดุ์ เมื่อเจริญเติบโตแล้วเจ้าศากยวงศ์ทั้งห้าทรงโปรดปรานมาก จึงได้แต่งตั้งให้เป็นนายภูษามาลาประจำราชสกุลศากยะ ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จมาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ แล้วเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปประทับอยู่อนุปิยอัมพวันของมัลลกษัตริย์ ครั้งนั้นศากยกุมารทั้งห้ารวมทั้งเจ้าชายในโกลิยวงศ์เข้าด้วยเป็นหก เสด็จออกจากพระนครด้วยจาตุรงคเสนาเพื่อจะออกบวชในพระพุทธศาสนา อุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาได้ติดตามไปด้วย ครั้งย่างเข้าพรมแดนอื่นก็สั่งให้กระบวนตามเสด็จกลับทั้งหมด ทรงดำเนินตามลำพังทั้งหกพระองค์พร้อมกับนายอุบาลี เมื่อเห็นว่าได้เดินมาไกลพอสมควรจึงได้สั่งนายอุบาลีให้กลับกรุงกบิลพัสดุ์ และทั้งหกองค์ทรงเปลื้องเครื่องประดับออกเอาภูษาห่อและมอบให้นายอุบาลีนำกลับไปเพื่อเลี้ยงชีพ
เมื่อนายอุบาลีเดินทางมาได้ระยะหนึ่งก็ฉุกใจคิดว่า ถ้าเรากลับไปแล้วเจ้าชายศากยะก็จะคิดว่าเราลวงเจ้าชายทั้งหลายมาฆ่าแล้วชิงเอาเครื่องประดับตกแต่งมา ก็ศากยะกุมารทั้งหกนี้ยังทรงผนวชได้ไฉนเราจึงจะบวชบ้างไม่ได้เล่า จึงได้นำเครื่องประดับเหล่านั้นแขวนไว้บนต้นไม้กล่าวว่า ของนี้เราให้แล้ว ผู้ใดเห็นแล้วผู้นั้นจงนำไปเถิด แล้วเดินตามไปเฝ้าศากยะกุมารเหล่านั้นเล่าความให้ทราบ เหล่าศากยะกุมารก็เห็นด้วยจึงพากันเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดาทูลขออุปสมบท แต่ก่อนจะอุปสมบทเจ้าศากยะกุมารเหล่านั้นทูลขอให้พระองค์บวชอุบาลีผู้เป็นนายภูษามาลาก่อน ด้วยเหตุเพื่อลดมานะความถือตัวของตนเองที่เป็นวงศ์กษัตริย์ พระศาสดาจึงให้อุบาลีบวชก่อน
ครั้นเมื่อบวชแล้วท่านก็ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลเพื่อออกไปปฏิบัติธรรมในป่า พระศาสดาทรงห้ามไว้โดยมีพระดำริว่า ถ้าท่านเลือกที่จะอยู่ในเสนาสนะป่านั้น ท่านก็จะสามารถบำเพ็ญได้แต่วิปัสสนาธุระเพียงอย่างเดียว บำเพ็ญคันถธุระไม่ได้ แต่ถ้าท่านอยู่ในสำนักพระบรมศาสดาจะบำเพ็ญกิจทั้งสองนี้ได้พร้อมกัน แล้วทรงเล็งเห็นว่าในอนาคตท่านจะบรรลุพระอรหันต์และเป็นหัวหน้าในฝ่ายวินัยปิฎก เมื่อทรงดำริความข้อนี้แล้วจึงไม่ทรงอนุญาตการอยู่ป่าแก่พระเถระ
พระอุบาลีนั้นเป็นผู้ไม่ประมาท ได้ฟังพระกรรมฐานที่พระศาสดาทรงสั่งสอน ตั้งใจปฏิบัติวิปัสสนากรรมอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัต ท่านได้ศึกษาทรงจำพระวินัยปิฎกแม่นยำชำนิชำนาญมากจนได้รับการยกย่องจากพระศาสดา เป็นผู้สามารถทำเรื่องราวอะไรซึ่งเกี่ยวด้วยพระวินัยได้เป็นอย่างดี ภายหลังพระศาสดาได้ประทานพุทธานุญาติให้เป็นผู้วินิจฉัยอธิกรณ์สามเรื่อง คือเรื่องภิกษุเมืองภารุกัจฉะ เรื่องอัชชุกะและเรื่องกุมารกัสสปะ ด้วยเหตุนี้พระศาสดาจึงประทานสาธุการรับรองแต่ละเรื่องที่ท่านวินิจฉัยแล้วเทียบเคียงกับพระสัพพัญญุตญาณ ทั้งยังทรงยกย่องว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้ทรงไว้ซึ่งพระวินัย เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว พระมหากัสสปะกระทำสังคายนาพระธรรมวินัย สงฆ์ได้เลือกท่านให้เป็นผู้วิสัชชนาในส่วนพระวินัยปิฎกเพราะท่านเป็นผู้มีความสามารถในเรื่องนี้
การบูชาพระอุบาลีจะทำให้ตนเองและบุตรหลานอยู่ในระเบียบวินัย ไม่หลงมัวเมาในอบายมุข ตามคติของพระพุทธศาสนาจัดให้พระพุทธรูปปางนาคปรกเป็นปางที่ปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากภยันตรายและสิ่งเลวร้าย และจัดคาถายะโตหังเป็นคาถาสวด โดยสวด 10 จบตามกำลังวัน ในทางโหราศาสตร์ทิศนี้มีพระเสาร์ประจำทิศหมายถึงการกระทำ การดำเนินชีวิตที่เป็นไปในทางดีงาม ชีวิตก็จะดำเนินไปอย่างถูกต้องคลองธรรม และยังให้บทสวดพระคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์คลายจักรเป็นคาถาประจำพระเสาร์ คือ โส มา ณะ กะ ริ กา โธ