วัดทุ่งยาว

พระราหุล

ทิศอีสาน หรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ตรงกับพระอรหันต์คือพระราหุล ซึ่งเป็นเอตทัคคะในเรื่องการศึกษา ใคร่ต่อการศึกษาเรียนรู้

พระราหุลเป็นโอรสของเจ้าชายสิทธัตถะกับพระนางยโสธราหรือพิมพา เป็นพระนัดดาของพระเจ้าสุทโธทนะผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ เมื่อพระบรมศาสดาได้ตรัสรู้แล้วเสด็จมาเทศนาโปรดพระประยูรญาติที่กรุงกบิลพัสดุ์ ประทับอยู่ที่นิโครธาราม ครั้นล่วงถึงวันที่เจ็ดแห่งการเสด็จมาเยือนพระนคร พระองค์เสด็จไปที่พระราชนิเวศน์ของพระนางยโสธรา พระนางได้ส่งพระราหุลกุมารผู้เป็นพระโอรสออกมาทูลขอราชสมบัติที่ควรได้ในฐานะเป็นทายาทสืบสันตติวงศ์ เมื่อราหุลกุมารเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบถวายบังคมแล้วบังเกิดความรักในพระบิดาเฝ้าเจรจาปราศรัยแสดงความรักใคร่มีประการต่างๆ ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาจะเสด็จกลับจึงร้องทูลขอราชสมบัติพลางตามเสด็จ พระบรมศาสดาทรงดำริว่าทรัพย์สมบัติทั้งหลายที่จะมั่นคงถาวรและประเสริฐยิ่งกว่าอริยทรัพย์นั้นไม่มี ควรที่เราจะมอบอริยทรัพย์แก่ราหุลเถิด

ครั้งพระศาสดาทรงดำริอย่างนี้แล้วจึงตรัสสั่งพระสารีบุตรว่า สารีบุตรถ้าอย่างนั้นเธอจงให้ราหุลบวชเถิด ขณะนั้นราหุลกุมารยังเยาว์อยู่มีอายุไม่ครบอุปสมบท พระศาสดาทรงปรารภเรื่องนี้เป็นเหตุจึงทรงอนุญาตให้ภิกษุบวชกุลบุตรที่มีอายุไม่ครบอุปสมบทให้เป็นสามเณร ด้วยให้รับสรณคมน์ 3 เมื่อราหุลกุมารบวชเป็นสามเณรแล้วตามเสด็จพระบรมศาสดาและพระอุปัชฌาย์ของตนไป กระทั่งมีอายุครบแล้วก็ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ฝ่ายพระเจ้าสุทโธทนะพอได้ทราบว่าราหุลกุมารบวชแล้วถึงความโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง ด้วยหวั่นพระหฤทัยว่าสิ้นผู้ที่จะสืบพระวงศ์ ทรงปรารภถึงทุกข์เช่นนี้ที่จะพึงมีแก่มารดาบิดาในตระกูลอื่น จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระศาสดาทูลขอพรอย่างนี้ว่า ขออย่าให้พระภิกษุทั้งหลายบวชกุลบุตรที่บิดามารดายังไม่อนุญาตก่อน พระศาสดาก็ทรงประทานพรตามที่ทูลขอนั้น

วันหนึ่งในขณะที่พระราหุลพักอยู่ ณ สวนมะม่วงแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์ พระบรมศาสดาเสด็จไป ร ที่นั้น ทรงแสดงราหุโลวาทสูตรซึ่งว่าด้วยภาชนะน้ำเปล่า บรรยายเปรียบเทียบด้วยคนพูดมุสาวาทเป็นต้น ตรัสสอนให้พระราหุลสำเหนียกตามเทศนานั้นแล้วเสด็จกลับไป ต่อมาอีกวันหนึ่งพระราหุลเข้าไปเฝ้าพระบรมศาสดา ทรงตรัสสอนด้วยมหาราหุโลวาทซึ่งว่าด้วยเรื่องรูปกรรมฐานธาตุ 5 อย่างคือ ปฐวีธาตุ-ธาตุดิน อาโปธาตุ-ธาตุน้ำ เตโชธาตุ-ธาตุไฟ วาโยธาตุ-ธาตุลมและอากาศธาตุ-ช่องว่าง ให้เจริญภาวนาดุจเสมอกับด้วยดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ฉันนั้น เมื่ออารมณ์ที่มากระทบเป็นที่ชอบใจก็ดี ไม่เป็นที่ชอบใจก็ดี ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิต ตั้งอยู่ได้ ให้ใช้ปัญญาพิจารณาให้เห็นตามสภาพที่เป็นจริงว่า สิ่งนั้นไม่ใช่ของเรา ส่วนนั้นไม่เป็นของเรา เป็นต้น ในที่สุดทรงตรัสสอนในกรรมฐานอื่นๆ ว่าด้วยเรื่อง ให้เจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา อสุภสัญญา อนิจจสัญญา อธิบายโดยย่อว่าเมื่อเจริญเมตตาจักละพยาบาท ความคิดสาปแช่งผู้อื่นให้ฉิบหาย เมื่อเจริญกรุณาจักละความคิดเบียดเบียนผู้อื่น เมื่อเจริญมุทิตาจักละความอิจฉาไม่ยินดี เมื่อเจริญอุเบกขาจักละความชอบใจและไม่ชอบใจ เมื่อเจริญอสุภสัญญาจักละความกำหนัดรักใคร่เสียได้ เมื่อเจริญอนิจจสัญญาจักละความถือตัว ครั้นสอนจบแล้วพระราหุลมีจิตยินดีไปในธรรมคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา ต่อมาพระราหุลได้ศึกษาธรรมและฟังโอวาทที่พระศาสดาทรงสั่งสอนในทางวิปัสสนาคล้ายกับโอวาทที่ทรงตรัสสอนภิกษุปัญจวัคคีย์ เพียงแต่ในที่นี้ยกอายตนะภายในภายนอกเป็นต้นขึ้นแสดงแทนขันธ์ 5 ท่านส่งจิตไปตามเทศนานั้นๆ ท้ายที่สุดก็ได้บรรลุพระอรหัตตผลด้วยจิตที่ปราศจากกิเลสทั้งปวง

พระราหุลนั้นท่านเป็นผู้มีอัธยาศัยใคร่ต่อการศึกษาพระธรรมวินัย ตามประวัติกล่าวว่าทุกวันท่านจะลุกขึ้นแต่เช้าเดินไปกอบทรายมาให้เต็มฝ่าพระหัตถ์แล้วตั้งความปรารถนาว่า วันนี้ข้าพเจ้าพึงได้รับโอวาทคำสอนจากสำนักของพระบรมศาสดาหรือจากสำนัดของอุปัชฌาย์อาจารย์ทั้งหลายให้ได้มากประมาณเท่าเม็ดทรายในกำมือของข้าพเจ้านี้ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงได้รับการยกย่องจากพระศาสดาให้ดำรงตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทางผู้ใคร่ในการศึกษา พระราหุลดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลา ก็ดับขันธปรินิพพานที่บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ณ ดาวดึงส์เทวโลก

ทิศอีสาน หรือทิศพระราหุล ในทางโหราศาสตร์ตรงกับนพเคราะห์คือพระอาทิตย์ ส่วนผู้ใดอยากให้บุตรหลานมีปัญญาเฉียบแหลม มีสติปัญญาเป็นเลิศ มีฤทธิ์มียศมีชื่อเสียงก็ควรบูชาพระราหุลและพระอาทิตย์ จัดให้พระปริตรบทโมรปริตเป็นคาถาสวด ควรสวด 6 จบตามกำลังวัน และจัดให้สวดพระคาถาอิติปิโส 8 ทิศ บทนารายณ์แปลงรูป เป็นคาถาภาวนาพระอาทิตย์คือ อะ จิ สุ นุต สา นุ ติ

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

พระอานนท์

ทิศปัจฉิม หรือทิศตะวันตก พระอรหันต์ประจำทิศนี้คือพระอานนท์ ซึ่งเป็นภิกษุผู้เลิศทั้งห้าประการ เป็นพหูสูต มีสติ มีคติ มีความเพียรและพุทธอุปัฏฐาก

Read More »

พระอุบาลี

กล่าวมาถึงลูกนิมิตลูกที่สี่กันแล้ว หวังว่าผู้ที่ให้ความสนใจก็คงพอจะรู้ทั้งประวัติและบารมีของพระอรหันต์ซึ่งประจำแต่ละทิศ ถือได้ว่าท่านเหล่านั้นก็ยังเป็นเลิศกว่าพระอรหันต์ผู้เป็นเลิศอีก เพราะพระอรหันต์ผู้เป็นเลิศต่างๆ มีถึง 80 องค์ เหตุที่โบราณาจารย์ได้อัญเชิญบารมีพระอรหันต์

Read More »
  • ค้นหา

เรื่องราวยอดนิยม
thไทย