วัดทุ่งยาว

กุมภัณฑ์

ภาพจาก : 国訳秘密儀軌編纂局 編. (1932年). 新纂仏像図鑑. 天之巻. 仏教珍籍刊行会. https://dl.ndl.go.jp/info:ndljp/pid/1189759

ไหนๆ เราก็รู้จักเรื่องราวของเหล่าคนธรรพ์กันมาแล้ว  คราวนี้ลองมารู้จักกับพวกกุมภัณฑ์กันบ้าง  ว่าพวกเขาเป็นใคร  มีภูมิประวัติความเป็นมาอย่างไร  ซึ่งที่จริงแล้วกุมภัณฑ์เป็นใครเราทุกคนต่างก็ไม่รู้  เพราะคำจำกัดความของกุมภัณฑ์นั้นมีน้อยมาก  อาจเป็นเพราะลักษณะของกุมภัณฑ์นั้นค่อนข้างน่ากลัว  ผู้คนจึงไม่อยากเอ่ยถึง  ไม่เหมือนยักษ์ที่ระบุลงตัวให้เห็นได้อย่างชัดเจนแต่ผู้คนกลับกลัวน้อยกว่า  คงเป็นเพราะท้าวเวสสุวรรณผู้เป็นใหญ่ในยักษ์ทั้งหลายมีจิตใจเป็นธรรมและมีเมตตาต่อมนุษย์  มักประทานสิ่งของวิเศษหรือเงินทองเป็นต้นเมื่อยามที่ท่านทดสอบมนุษย์เหล่านั้น  กุมภัณฑ์จัดเป็นเทวดากลุ่มหนึ่งตามความเชื่อในพุทธศาสนา  แต่ไม่ถึงกับเป็นเทวดาไปเสียทีเดียว  จึงต้องเสวยผลกรรมรวมอยู่ด้วย  อีกทั้งมีรูปร่างลักษณะไม่ทั่วไปเช่นกับเทวดาอื่นๆ กลับมีรูปร่างลักษณะตามภพภูมิที่ตนสถิต  โดยกุมภัณฑ์นั้นจะแบ่งได้เป็นหลายพวกด้วยกันและมีหน้าที่แตกต่างกันไป  กุมภัณฑ์ชั้นสูงสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา  มีวิมานลอยอยู่ในอากาศ  ถ้าเป็นผู้มีฤทธิ์มากจะมีรูปร่างกายาเหมือนเทพหรือมนุษย์  พวกนี้ไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไร  ส่วนกุมภัณฑ์ชั้นกลางเป็นเทวดาอยู่ตามป่าเขามือถือกระบองใหญ่  ทำหน้าที่รักษาทรัพย์ในดิน ป่า ภูเขา  มีรูปร่างกำยำแต่มีท้องใหญ่จนมองดูคล้ายว่ามีลูกอัณฑะใหญ่เท่าหม้อจึงเป็นที่มาของชื่อ “กุมภัณฑ์”  มีอาณาเขตของตนเองให้รักษาโดยห้ามผู้ใดเข้ามากล้ำกรายอย่างเด็ดขาด  คล้ายว่าเป็นเจ้าป่าเจ้าเขาแต่ไม่ใช่ซะทีเดียว  และในชั้นล่างนี้จะเป็นกุมภัณฑ์ที่พูดถึงมากที่สุดเพราะมักปรากฏกายให้มนุษย์ได้พบเห็น  กระทั่งนำไปเขียนเป็นเรื่องราวต่างๆ มากมายในวรรณคดี  มีที่สถิตอาศัยอยู่ตามแม่น้ำเรียกกันในนามว่า “รากษส” (ราก-สด)  พวกนี้ค่อนข้างน่ากลัว  จะมีลักษณะตัวโต หน้าแดง ท้องเขียว มือเท้าแดง เขี้ยวใหญ่ เท้าคด  มีนิสัยดุร้ายชอบกินเนื้อสัตว์เป็นนิจ  โดยไม่พึงปรารถนาสิ่งอื่นใดนอกจากได้กินเนื้อสัตว์เท่านั้น  มีหน้าที่คล้ายกุมภัณฑ์ชั้นกลางคือรักษาทรัพย์สมบัติต่างๆ มีแก้วมณี เป็นต้น  และยังรักษาป่า ภูเขา แม่น้ำ  ถ้ามีผู้ใดล่วงล้ำก็ให้โทษต่างๆ

คราวนี้จะกล่าวถึงตำนานการเกิดของพวกรากษส  โดยว่ากันตามตำนานปรากฏไว้ดังนี้  พวกรากษสนั้นถือกำเนิดมาจากสายของพรหมฤษีปุลสัตยะ  มีแม่สืบเชื้อสายมาจากเผ่าอสูรนามว่าไกกาสี  หรือคนไทยรู้จักกันในนามนางรัชฎาในเรื่องรามเกียรติ์  แต่เพราะนางถือกำเนิดบุตรในเวลาฤกษ์ร้าย  ลูกที่เกิดมาจึงมิได้ให้คุณนำแต่เรื่องเลวร้ายมาให้  ซึ่งบุตรที่เกิดมานี้คือทศกัณฐ์นั่นเอง  เมื่อแรกเกิดร้องไห้ด้วยคำว่า “กระหาย”  พระพรหมจึงจัดหาที่อยู่ตามเสียงร้องนั้น  โดยให้ไปคอยคุ้มครองปกป้องแหล่งน้ำต่างๆ บนโลก  ทั้งบนเกาะ ป่าชายน้ำรวมไปถึงห้วยหนองคลองบึงต่างๆ  ทศกัณฐ์ถึงได้ถูกส่งตัวไปปกครองรักษาเมืองอยู่ที่กรุงลงกาด้วยประการอย่างนี้  จากนั้นก็จะเป็นเรื่องราวอีกมากมายดังปรากฏอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์  พวกรากษสนั้นดูเผินๆ แล้วคล้ายพวกยักษ์  แต่มิใช่ยักษ์เป็นคนละพวกกัน  และถ้าหากนำมาอยู่รวมกันจะดูคล้ายคลึงกันมากจนบางทีก็แยกไม่ออกเหมือนกัน  รากษสมีนิสัยแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือชอบรบกวนพวกพราหมณ์ที่ประกอบพิธีเนื่องจากพวกนี้ไม่ชอบฟังเสียงสวด  ส่วนคำว่ารากษสมีรากศัพท์มาจากคำว่ารักษะคือการรักษาปกป้อง  บางตนก็มีที่สถิตอาศัยอยู่ในน้ำเรียกกันว่าผีเสื้อน้ำ  หรือก็คือผีเสื้อสมุทรหนึ่งในตัวละครเอกที่ท่านสุนทรภู่นำไปเขียนในเรื่องพระอภัยมณีนั่นเอง  และถึงแม้ว่าพวกนี้จะไม่ชอบฟังเสียงสวดแต่ประการใดพวกรากษสกลับมีจิตใจนับถือในพุทธศาสนา  อย่างเช่นในเรื่องธรรมบท (คัมภีร์พุทธศาสนาตอนหนึ่ง) คงมีเรื่องเล่าอยู่ว่า  มีรากษสตนหนึ่งเป็นผู้รักษาสระน้ำแห่งหนึ่งได้รับข้อเว้นไว้ว่า  ถ้าชนผู้รู้เทวธรรมเท่านั้น  นอกจากนั้นถ้าชนเหล่าใดลงสู่สระนี้เจ้าย่อมได้เพื่อเคี้ยวกินชนเหล่านั้น  นับจากนั้นมารากษสตนนี้จะถามไถ่เทวธรรมแก่ชนผู้ลงมาสู่สระนี้  และไม่เคยมีผู้ใดรู้ในเทวธรรมนั้นเลย  จึงได้เคี้ยวกินมนุษย์เหล่านั้นเรื่อยมา  กระทั่งวันหนึ่งได้พบพระโพธิสัตว์แสดงเทวธรรมให้เห็นอย่างชัดเจน  พร้อมทั้งแสดงตนเป็นผู้ประพฤติในเทวธรรมนั้นด้วย  ตามความหมายคือมิใช่รู้แต่เทวธรรมเท่านั้นหากต้องเป็นผู้ทำตามธรรมนั้นได้ด้วย  เทวธรรมนั้นคือธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา  มีหิริคือความเกรงกลัวต่อบาป  และโอตัปปะคือความละอายต่อบาป  เป็นสิ่งที่ห้ามบาปอันเป็นเครื่องทำให้ประพฤติชั่วมิให้เกิดมีขึ้นในใจ  จึงจะคงความเป็นเทวดาไว้ได้ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นพวกอสูรที่ชั่วร้ายไป  สำหรับกุมภัณฑ์กลุ่มสุดท้ายนี้มีรูปร่างลักษณะสูงใหญ่ ท้องโต ตาโตแดงก่ำ นุ่งผ้าสีแดง  ซึ่งหลายคนคงคิดไม่ถึงเลย  ดั่งที่คัมภีร์ทีปกสารว่ากันว่าเป็นบริวารของพญายม  เหตุว่ากุมภัณฑ์กลุ่มนี้คือยมบาลนั่นเอง  มีที่สถิตอาศัยอยู่ในภูมินรกดำรงหน้าที่ลงโทษสัตว์ในนรกต่างๆ ตามวาระกรรมที่สัตว์นั้นกระทำไว้  วิญญาณต่างๆ ที่เคยไปตกนรกถึงได้กลัวกุมภัณฑ์กันนัก  เมื่อยามมาเกิดบนเมืองมนุษย์ถึงไม่ค่อยอยากรู้เรื่องของพวกยมบาลกันนักหรอก  ในโบราณกาลกล่าวว่าพวกที่ไปเกิดเป็นยมบาลนั้นเมื่ออยู่เมืองมนุษย์จะสร้างบุญและบาปเท่ากัน  ครั้งนำไปชั่งความดีความชั่วแล้วจะถูกส่งไปสถิตยังภูมินรก  แต่มีหน้าที่เป็นนายนิรบาลไม่ได้รับผลกรรมแต่ก็มิได้เสวยสุขคติด้วยประการใดๆ

ส่วนผู้เป็นบดีหรือผู้ปกครองกุมภัณฑ์คือหนึ่งในสี่ผู้ปกครองสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกานามว่า “วิรุฬหก” เป็นใหญ่ทางด้านทิศใต้ของเขาพระสุเมรุ  นัยคัมภีร์อาฏานาฏิยปริตรว่าเป็นจอมเทวดาและจอมกุมภัณฑ์  ตามความเชื่อบางคติกล่าวไว้ว่าท่านคือผู้ปกครองครุฑและนกด้วย  และเพราะท่านมีเทพกลุ่มกุมภัณฑ์เป็นบริวาร  ซึ่งกุมภะแปลว่าหม้อ  ฉะนั้นท่านจึงแสดงรูปกายสีขาว  รูปร่างอ้วนใหญ่เหมือนพ้อมใส่ข้าว ท้องป่องพุงใหญ่ หัวโต ฟันขาว เขี้ยวโง้วออกจากปาก ทรงอาภรณ์สีแดงเลือด มือซ้ายถือธนู  ในเรื่องรามเกียรติ์กล่าวถึงรูปลักษณะว่าท่านมีใบหน้าและกายยักษ์สีขาบ  บางตำราว่าสีเขียวขาบ  บางแห่งว่าสีม่วงแก่  ปากแสยะ ตาโพลง  บางตำราว่าตาจระเข้  สวมมงกุฎยอดนาค  มีเครื่องประดับกายล้วนแต่นาคอันมีพิษเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งหมด  มีหนึ่งหน้า สองมือ มีเหล่าอสูรเป็นบริวาร  อาศัยอยู่ใต้พื้นดินระหว่างเขาตรีกูฏ  ครองเมืองมหาอันธการ  มักจะเดินทางไปเฝ้าพระอิศวรที่เขาไกรลาสปีละเจ็ดครั้ง  มีอยู่วันหนึ่งสำคัญผิดคิดว่าพระอิศวรประทับอยู่ข้างบนจึงถวายบังคมไปทุกขั้นบันได  ถูกตุ๊กแกบนยอดเขาตัวหนึ่งล้อเลียน  ด้วยความโกรธจึงถอดสังวาลนาคฟาดใส่กระทั่งตุ๊กแกแหลกละเอียดเพราะกำลังมหาศาลทำให้เขาไกรลาสเอียงทรุด  ต่อมาทศกัณฐ์จึงเข้าไปผลักเขาไกรลาสให้ตั้งตรงดั่งเดิม  รูปลักษณ์กายยักษ์ที่ว่านี้นิยมนำไปจำลองสร้างขึ้นและประดิษฐานไว้ตามสถานที่สำคัญๆ หลายแห่ง  เรื่องราวของท้าววิรุฬหกยังไม่จบเพียงเท่านี้  ตามคัมภีร์พุทธนิกายจีนได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับท้าววิรุฬหกไว้ได้อย่างน่าสนใจมาก  เริ่มจากว่าท่านเป็นมหาราชาผู้พิทักษ์ปกป้องพระธรรม  นามเดิมคือผีหลิวหลี  บ้างก็เรียกในชื่ออสูรว่าหมอลีซิง  ภายหลังจากที่ได้ปวารณาตนเพื่อรับใช้พระพุทธศาสนา  พระพุทธองค์ทรงมอบหมายหน้าที่ในการคุ้มครองพระธรรมคัมภีร์ให้ปลอดภัย  รวมทั้งให้พระธรรมขจรไกลสู่ดินแดนต่างๆ อย่างกว้างไกล  ส่วนรูปลักษณะในการแต่งกายจะเหมือนเทพเจ้าของชาวจีนโดยทั่วไป  คือทรงชุดนักรบสวมเกราะดั่งแม่ทัพ  มีกายสีเขียวเข้ม(บ้างก็ว่าเป็นสีน้ำเงิน)  พระหัตถ์ถือกระบี่วิเศษสีเขียวครามเรียกว่าชิงเฟิงเป่าเจี้ยน  มีมหามนตราสามารถใช้เวทมนต์ให้บังเกิดเป็นเปลวไฟ  มีพลังอำนาจอันร้ายแรงและกระบี่วิเศษของท่านนั้นยามใดที่สะบัดออกจะบังเกิดเป็นลมพายุโหมกระหน่ำ  ดังนั้นความแหลมคมของตัวกระบี่จึงเป็นที่มาของความหมายประจำตัวท่าน  เพราะคำว่าเฟิง  ส่วนที่มาของชื่อกระบี่ก็ออกเสียงว่าเฟิง  และลักษณะเมื่อยามสะบัดกระบี่กระทั่งบังเกิดเป็นพายุขนาดใหญ่ซึ่งมีความหมายของคำว่าเฟิงอีกเช่นกัน  คำว่าเฟิงแปลว่าลม  ในอักษรมงคลคำว่า เฟิงเถียวอวี่ซุ่น  มีความหมายตรงตัวหมายถึงความสะดวกราบรื่นและสำเร็จดั่งใจหมาย

มาถึงบทสุดท้ายแล้วแต่มิใช่ท้ายที่สุด  ชีวิตของมนุษย์เราอย่างไรก็ต้องดำเนินต่อไป  การจะพบกับความสะดวกและความสำเร็จได้นั้นจะต้องหมั่นสร้างกุศลและประกอบอยู่ในศีลธรรมอันดี  จึงจะพานพบกับสิ่งที่ตนปรารถนาได้  ดังนั้นแล้วเราท่านทั้งหลายอย่าท้อถอยต่ออุปสรรคที่มีอยู่  สักวันหนึ่งความสำเร็จในวันหน้าก็จะมีมา  และในโอกาสวาระดิถีปีใหม่ที่ใกล้จะมาถึงนี้  ขอคุณพระรัตนตรัยรวมทั้งท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่จงคุ้มครองคณะศิษย์วัดทุ่งยาวรวมทั้งผู้อ่านทุกท่านให้แคล้วคลาดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง  และขออัญเชิญสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงประสิทธิ์สถาพรให้ทุกท่านจงมีแต่ความสุขสมหวังในหน้าที่การงาน  ร่ำรวยเงินทองดั่งใจหมายทุกประการเทอญ

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

คนธรรพ์

ภาพจาก : Anandajoti Bhikkhu / flicker.com มีผู้อ่านถามมาว่า  มีใครรู้จักคนธรรพ์บ้างไหม 

Read More »
  • ค้นหา

เรื่องราวยอดนิยม
thไทย