ภาพจาก : Anandajoti Bhikkhu / flicker.com
มีผู้อ่านถามมาว่า มีใครรู้จักคนธรรพ์บ้างไหม จริงๆ ก็คงไม่มีใครรู้จักประวัติคนธรรพ์มากเท่าไร เพราะตามตำนานแล้วชาวไทยเรารู้จักคนธรรพ์จากท้องนิทานพื้นบ้านหรือเรื่องเล่าในชาดก แต่ในสมัยนี้ก็คงไม่มีใครรู้จักประวัติของคนธรรพ์ จะมีก็แต่ผู้ที่ร่ำเรียนนาฏศิลป์ไทยที่รู้จักความเป็นมา เพราะเหตุใดหรือ คงต้องเริ่มจากประวัติความเป็นมาก่อน ตามประวัติคนธรรพ์เป็นชาวสวรรค์จำพวกหนึ่งหรือเรียกอย่างไทยเราว่าภูตก็ได้ ในคติฮินดูว่ากันว่าคนธรรพ์ถือกำเนิดจากพระพรหม แต่บางตำนานก็ว่าเป็นโอรสพระกัตยปฤษี โดยปกติคนธรรพ์จะมีบ้านเมืองเป็นของตนเองอยู่ระหว่างสวรรค์และโลกมนุษย์ ถึงแม้ว่าคนธรรพ์จะมิใช่เทพบุตรรูปงามแต่มีนิสัยเจ้าชู้ มีเสน่ห์มักทำให้ผู้หญิงหลงรัก สำหรับหน้าที่ส่วนใหญ่ของคนธรรพ์นั้นจะเป็นผู้คอยดูแลโสม ครั้งเมื่อโสมเหล่านี้เจริญเติบโตเต็มที่จะนำมาปรุงเป็นยาวิเศษต่างๆ รวมไปถึงเป็นผู้ปรุงน้ำโสมให้แก่เหล่าเทวดาอารักษ์ทั้งหลาย รวมทั้งองค์อมรินทร์ผู้เป็นใหญ่แห่งแดนสวรรค์นี้ด้วยให้ได้เสวยกัน ส่วนหน้าที่อีกอย่างหนึ่งที่โดดเด่นของเหล่าคนธรรพ์นั่นก็คือความชำนาญทางการขับร้องและเล่นดนตรี เรียกได้ว่าความสามารถแขนงวิชาการดนตรีกับทั้งนาฏศิลป์ทั้งปวงชื่อว่าเป็นเลิศทั่วปฐพีทีเดียว ถึงกับขนานนามว่าคนธรรพวิทยา แต่การบรรเลงดนตรีของคนธรรพ์นั้นออกจะแปลกอยู่สักหน่อย เนื่องจากว่าเป็นเสียงเพลงเพื่อพุทธบูชา คือเมื่อได้ฟังแล้วมิใช่ทำให้ผู้ฟังลุ่มหลงงงงวย แต่เป็นการขับกล่อมให้มีสติเตือนใจให้ระลึกได้ หรือกำหนดใจของผู้ฟังได้ เพราะว่าถ้าเสียงแห่งดนตรีที่เป็นไปเพื่อความสนุกสนานเฮฮา ทำให้หลงลืมสติมัวเมาอยู่ในกามคุณ เสียงดนตรีที่ว่ามานี้จะทำให้ไปบังเกิดในนรกที่ชื่อว่าปหาสะ ในคราวมีเทวสันนิบาตของเหล่าเทวดาหรือเมื่อมีงานประชุมของเหล่าเทวาครั้งใด คนธรรพ์ทั้งหลายจะไปร่วมประโคมดนตรีทุกครั้งไป ว่ากันว่าเสียงแห่งการประโคมดนตรีของแดนสวรรค์นั้นเป็นเสมือนเครื่องบอก เช่นเมื่อผู้มีบุญญาธิการลงมาจุติยังแดนมนุษย์เสียงเหล่านี้จะบรรเลงขึ้น หรือเมื่อผู้มีบุญญาธิการบังเกิดสู่แดนสวรรค์เสียงเหล่านี้จะบรรเลงบ่งบอกถึงความยินดีปราโมทย์
ในคัมภีร์พุทธเราได้แบ่งเหล่าคนธรรพ์ไว้เป็น 3 ระดับด้วยกัน คือคนธรรพ์ชั้นสูงจะมีวิมานอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา อย่างเช่นปัญจสิงขรเทวบุตร จัดเป็นเทวบุตรมีรูปร่างกายาเป็นทิพย์ เป็นผู้ประโคมดนตรีอัญเชิญพระพุทธองค์ครั้งเสด็จลงสู่เทวโลก นอกจากจะมีวิมานอยู่บนสวรรค์ด้วยแล้ว ท่านยังมีเทพธิดาประจำอยู่ในวิมานนั้นด้วย ส่วนคนธรรพ์ชั้นกลางสถิตอยู่ในป่าหิมพานต์ ซึ่งในป่านี้จะเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์เทพแปลกๆ มากมาย ซึ่งโดยมากจะอาศัยรวมกันอยู่เป็นกลุ่ม สรุปได้ว่าเป็นสถานที่ประหลาดแห่งหนึ่ง แต่จัดเป็นที่พิเศษเพราะส่วนมากผู้ที่อาศัยอยู่ในนั้นจะมีของวิเศษหรือสิ่งพิเศษเฉพาะตน คนธรรพ์ที่สถิตอยู่ในป่าหิมพานต์แห่งนี้จะมีวิมานอยู่ในต้นไม้และเป็นบริวารของคนธรรพ์ชั้นสูงอีกทีหนึ่ง สำหรับคนธรรพ์ชั้นสุดท้ายหรือชั้นล่างสุดจะสิงสถิตอยู่ในต้นไม้บนพื้นมนุษย์โลก อย่างเช่นอยู่ในต้นตะเคียน ต้นตานี เป็นต้น แต่คนธรรพ์เหล่านี้มิใช่นางไม้หรอกนะ หากเพราะการสร้างกุศลที่ไม่เท่ากันการสถิตที่อยู่จึงแตกต่างกันไป
เหล่าคนธรรพ์มีผู้ปกครองคือท้าวธตรัฐ ซึ่งเป็นหนึ่งในท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ประจำอยู่ทางทิศตะวันออกของเขาสุเมรุ ถ้าจะกล่าวถึงท้าวจตุโลกบาลคงต้องเริ่มจากการนับถือพุทธศาสนาซึ่งได้แพร่หลายเข้ามาทั่วทวีปทางแถบเอเชีย ทั้งจีน ไทย พม่า ลาว เวียดนาม ญี่ปุ่น ทิเบต ฯลฯ และอินเดียซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งพุทธศาสนานั้นด้วย แม้ชาวเมืองส่วนใหญ่จะนับถือฮินดู แต่ประวัติศาสตร์ด้านวรรณคดีของชาวอินเดียก็ยังคงไว้มิได้ทำลายลงเสียหมด ฉะนั้นชาวเอเชียที่นับถือพุทธศาสนาจึงรู้จักท้าวจตุโลกบาลเป็นอย่างดีตามนัยคัมภีร์พุทธศาสนา บางแห่งนำมาปั้นเป็นรูปปั้นสวมชุดทรงต่างกันไปเพื่อให้สอดคล้องกับภูมิประเทศของแต่ละประเทศ ประกอบกับชาวเมืองที่นับถือจะพากันมาทำการสักการะบูชาในฐานะเทพผู้คุ้มครองโลก และมีชื่อเรียกขานตามภาษาของชนชาตินั้นๆ ท้าวธตรัฐนั้นแปลว่าผู้รั้งเมือง หรือตามภาษาไทยว่างำเมือง มีรูปกาย 2 คาวุต มี 2 กร ขวามือถือพระขรรค์ หรือบางตำราว่ามือซ้ายถือกลองเล็ก มีรัศมีรอบพระเศียร ทรงช้างเป็นพาหนะ แต่อีกตำนานหนึ่งของจีนว่าท่านมีผิวกายเขียว มือถือเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งคล้ายพิณ 4 สาย ตำนานจีนเรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่าผีผา แต่บางแห่งก็ว่ามือซ้ายถือพิณ มือขวาดีดพิณ และเมื่อยามใดที่มีงานมงคลท่านจะเล่นเพลงแห่งความสุขขับกล่อมปวงประชา แต่หากยามใดที่เกิดสิ่งไม่ดีเข้ามารบกวนเสียงดนตรีอันไพเราะนั้นจะกลับกลายเป็นลูกไฟมหึมาจำนวนมากตกลงมาจากท้องฟ้าทำลายสิ่งนั้นให้เป็นจุณ ตามคติของชาวจีนที่นับถือพุทธได้กล่าวไว้ว่าท้าวธตรัฐนี้มีเทพองครักษ์อยู่ 2 ตนด้วยกัน คือผีบ้าตนหนึ่งกับยมทูตตัวเขียวตนหนึ่ง ในตำนานส่วนใหญ่ของนานาประเทศทางแถบเอเชียยังกล่าวไว้อีกว่า ท้าวธตรัฐนั้นเป็นเทพแห่งการบันดาลฟ้าผ่าหรือเป็นประหนึ่งเจ้าแห่งการควบคุมภูมิอากาศ แม้แต่ชาวไทยก็นิยมขอพรเรื่องฝนฟ้าอากาศกับท่าน และถึงแม้เหล่าคนธรรพ์จะมีท้าวธตรัฐเป็นบดีแล้วก็ตาม แต่คนธรรพ์ก็ยังมีหัวหน้าอีกทีหนึ่งเรียกกันว่าพระประคนธรรพ์ หรือพระประโคนธรรพ์
เรื่องราวของพระประคนธรรพ์นั้นน่าสนใจอยู่มาก เหตุว่าในวงการดนตรีไทยยกย่องพระประคนธรรพ์ว่าเป็นครูตะโพนและตะโพนทุกๆ ในถือเป็นตัวแทนของท่าน จัดให้พระประคนธรรพ์นั้นเป็นประธานควบคุมการบรรเลงเพลงสาธุการ สืบเนื่องจากเรื่องราวในพุทธประวัติคือเรื่องท้าวพกาพรหม ครั้งนั้นเมื่อท้าวเธอยอมจำนนต่อพระพุทธองค์แล้ว ได้ทูลอัญชลีอัญเชิญให้เสด็จลงจากมุ่นมวยผมอยู่หลายครั้ง พระพุทธองค์ยังทรงนิ่งเฉย กระทั่งเมื่อเหล่าคนธรรพ์พากันประโคนบรรเลงเพลงสาธุการขึ้นจึงทรงเสด็จลงมาปรากฏองค์ ดังนั้นแล้วเพลงสาธุการจึงกลายเป็นเพลงที่ใช้ประโคมบรรเลงในยามพิธีเพื่ออัญเชิญพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ ตะโพนจึงถือว่าเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่บรรเลงเพลงสาธุการ นักดนตรีไทยให้ความสำคัญและนับถือให้เป็นเครื่องดนตรีศักดิ์สิทธิ์ จึงไม่ต้องแปลกใจว่าชาวนาฏศิลป์ให้ความเคารพบูชาพระประคนธรรพ์กันเพราะเหตุใด ส่วนการกำเนิดของพระประคนธรรพ์นั้นตำนานเล่าว่า ท่านมีกำเนิดมาจากพระนลาฏ(หน้าผาก)ของพระพรหมผู้สร้างโลก พระพรหมท่านสร้างพระประคนธรรพ์ให้จุติเป็นคนธรรพ์ ต่อมาได้กลายมาเป็นเทวฤาษีมีนามว่าพระนารทมุนี เป็นเทวดาที่บำเพ็ญตนเป็นฤาษี ทำให้เหล่าคนธรรพ์ทั้งหลายให้ความเคารพยำเกรงพระประคนธรรพ์เป็นจำนวนมาก ท่านยังมีอิทธิฤทธิ์วิเศษสามารถบันดาลฝนเทียมได้ ฝนนั้นมีชื่อว่าหยาดพิรุณ มนุษย์โลกต่างเรียกขานเรื่อยมาจนเพี้ยนนามไปว่าพระนารอดหรือฤาษีนารอด เหตุเพราะท่านชำนาญในการปรุงยาสมุนไพร นำยาเหล่านั้นมาช่วยมนุษย์ให้พ้นจากโรคภัย ว่ากันว่ายาแต่ละขนานนั้นสามารถรักษาโรคได้สารพัด จวบจนปัจจุบันชาวไทยกลับรู้จักคนธรรพ์ผ่านทางนาฏศิลป์ไทยเป็นส่วนใหญ่ เพราะเมื่อมีการทำพิธีบูชาสักการะผู้คนที่ไปร่วมงานจะถามว่าทำอะไรกันนะ ชนชาวนาฏศิลป์จะตอบเพียงสั้นๆ ว่าไหว้ครู
ธรรมด้วยใจที่เป็นกุศล รวมทั้งได้ทำบุญในวันบูรพาจารย์เป็นที่เรียบร้อยอีกวาระหนึ่ง นับเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและน่าอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่งกับทุกๆ ท่านด้วย ขึ้นชื่อว่าการบูชาตามพุทธศาสนามี 2 อย่าง คือ 1. อามิสบูชา มีการบูชาด้วยสักการะ เช่นดอกไม้หรือปัจจัยสี่ เป็นต้น 2. ปฏิบัติบูชา คือการปฏิบัติตามคำสอนและประพฤติตามธรรมนั้นๆ ทั้งนี้ขออาราธนาคุณพระรัตนตรัยจงดลบันดาลให้คณะศิษย์ทุกท่านจงประสบแต่ความโชคดี มีสุข สมหวังในสิ่งที่หวัง ด้วยจตุรพิธพรชัยทุกประการเทอญ
การสั่งสมบุญ คือการเพิ่มพูนบุญ เชื่อว่าย่อมนำความสุขมาให้ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า