พระครูนวกิจจการี
เจ้าอาวาสวัดทุ่งยาว
ประวัติพระครูนวกิจจการี
หลวงพ่อสมชาติ ฉายา ปิยธโร อุปสมบทเมื่อ วันแรม 4 ค่ำ เดือน 6 พ.ศ.2528 ที่วัดบ้านโง้ง อ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี มีพระครูวรญาณวิสุทธิ (พระวรญาณโสภณ) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูรักขิตสีลคุณ (พระราชปราจีนมุณี) เป็นพระกรรมวาจาจารย์
นับแต่อุปสมบทได้จำพรรษาที่วัดทุ่งยาวตลอดมา ตราบจนทุกวันนี้ที่ท่านได้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดทุ่งยาว ท่านได้ทำการทำนุบำรุงบูรณะปรับปรุงสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่และทำการก่อสร้างเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดแห่งนี้ขึ้นอีกมากมาย โดยเริ่มจากการทำการก่อสร้างซุ้มประตูวัดริม ถ.สุวรรณศร (นครนายก-อรัญประเทศ) เพื่อความสะดวกแก่ญาติโยมที่เดินทางมาที่วัดจะได้สังเกตเห็นและเดินทางมาวัดได้ง่ายขึ้น พร้อมทั้งได้ซ่อมแซมบำรุงถนนทางเข้าวัดที่เป็นทางลูกรังขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ บางคราวชำรุดหรือขาดเพราะน้ำเซาะทำให้การเดินทางไม่สะดวก ให้ใช้การได้ดีขึ้นสะดวกขึ้น เมื่อซุ้มประตูวัดแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2534 ได้เริ่มลงมือก่อสร้างศาลาขนาด 16 เมตร ยาว 40 เมตร โดยได้อาศัยแรงศรัทธาจากคณะญาติโยมยานุศิษย์มากมายหลายสาย เมื่อดำเนินการสร้างล่วงมาเกือบเสร็จโดยประมาณ ได้จัดทำพิธีเททองหล่อองค์พระพุทธชินราช เมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ.2537 เพื่อประดิษฐานเป็นประธานในศาลาแห่งนี้ โดยท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระอุดมญาณโมลีเป็นประธานฝ่ายสงฆ์และพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ใน จ.ปราจีนบุรี เจริญพุทธาภิเษก เมื่อแล้วเสร็จได้ชื่อว่า “ศาลาอนังคโณ” เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์คือหลวงปู่ชม อนังคโณ นั่นเอง หลังจากนั้นท่านได้ทำการก่อสร้าง “พระพุทธอนงฺคณมุณี” ที่บริเวณด้านหน้าของศาลาอนังคโณ โดยเป็นพระพุทธรูปปางลีลาที่จำลองมาจากพุทธมณฑลพร้อมทั้งทำฐานพระเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุมขนาดใหญ่ บริเวณรอบฐานพระได้จัดทำสวนหย่อมและเทถนนคอนกรีตล้อมรอบทั้ง 4 ด้านเพื่อความสะดวกสวยงามและเป็นประโยชน์ โดยนาม “พระพุทธอนงฺคณมุณี” นี้เป็นชื่อที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวโรดมประทานพร้อมทั้งทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีด้วย จากนั้นในปี พ.ศ.2540 ได้จัดสร้างศาลาทรงไทยคู่ หลังแรกเป็นศาลาเอนกประสงค์ด้านล่างเป็นบ่อน้ำคอนกรีตเก็บน้ำฝน หลังที่สองด้านบนเป็นห้องพัก 5 ห้อง ด้านล่างเป็นห้องน้ำ 10 ห้อง พร้อมกันนั้นยังได้สร้างกุฏิปัญญาคุณ กุฏิปิยธโร กุฏิและบ่อน้ำเพิ่มขึ้นอีกหลายหลัง ทำรั้วล้อมรอบวัดและรั้วสังฆาวาส
ต่อมาในปี พ.ศ.2548 ท่านได้ดำริในการจัดสร้าง “พิพิธภัณฑ์อนังคโณชม” ขึ้นเพื่อเป็นสถานที่สำหรับประดิษฐานสรีระธาตุของหลวงปู่ชม อนังคโณ ครูบาอาจารย์ ให้สมกับที่ท่านเป็นพระผู้ประพฤติดีปฏิบัติชอบประกอบด้วยขันติบารมีและวิริยะความเพียรเพื่อความพ้นจากกองทุกข์กองกิเลสตามสายทางของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งยังเป็นพระอริยะสงฆ์ผู้เผยแพร่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ผู้ที่ไม่รู้ได้รับรู้และเดินตามสัจจะที่แท้จริงนั้น โดยใช้หลักเหตุและผลให้เป็นไปโดยถูกต้องไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคที่มาขัดขวาง เริ่มตั้งแต่ที่ท่านบวชจนถึงกาลสิ้นสุดอายุขัยของท่าน เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลึกถึงพระคุณของครูบาอาจารย์และเป็นที่รำลึกแก่ผู้ที่มา ณ ภายหลังที่ปรารถนาจะเดินตามสายทางพ้นทุกข์ให้ได้ค้นคว้าศึกษาเหตุปัจจัยและปฏิบัติธรรมตามสายทางที่ถูกต้องอย่างแท้จริง โดยหลวงพ่อเจ้าอาวาสได้มอบหมายให้พระอาจารย์ปลัดสมชาย เตชปญฺโญ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทุ่งยาว รับไปดำเนินการดูแลก่อสร้าง พร้อมกันนั้นได้จัดสร้างกุฏิแม่ชีเพิ่มอีกจำนวน 6 ห้อง ต่อจากนั้นเป็นการบูรณะศาลาหอฉันที่ค่อนข้างทรุดโทรม ด้วยการรื้อผนังขยายในอาคารให้กว้างขึ้น ปูพื้นศาลาใหม่ด้วยหินอ่อนและแกรนิต จัดทำสถานที่ล้างภาชนะและเคานเตอร์วางอาหารใหม่ อีกทั้งได้ทำการสร้างพระพุทธโสธรประดิษฐานประจำศาลาหอฉันด้วย ถัดมาเป็นการบูรณะปรับปรุงพื้นถนนภายในบริเวณวัดที่เดิมเป็นลูกรังบ้าง ถนนยางมะตอยบ้าง เป็นหลุมเป็นบ่อสูงๆ ต่ำๆ ชำรุดสึกกร่อนไปตามสภาพอายุการใช้งาน โดยต้องเริ่มจากการปรับพื้นถนนใหม่ทั้งหมดให้เรียบเสมอกันเพื่อยกศาสนสถานต่างๆ ภายในวัดให้สูงขึ้น แล้วจึงเทถนนคอนกรีตใหม่ทั้งหมดซึ่งกว่าจะทำได้สำเร็จก็ใช้เวลานานและมีอุปสรรคหลายอย่างทีเดียว แต่ก็ได้แล้วเสร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีด้วยแรงศรัทธาจากญาติโยมหลายคณะหลายสายร่วมแรงร่วมใจกัน จากนั้นเป็นการทำบันไดทางขึ้นด้านหน้าสามมุขเจดีย์พร้อมกับราวระเบียงหินทรายยาวไปจรดหน้าวิหาร ที่พื้นลานโพธิ์ก็ได้จัดทำการปูพื้นแกรนิตใหม่ จัดสร้างห้องน้ำใหม่อีก 2 หลังจำนวน 10 ห้อง หลังจากการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์ฯ แล้วเสร็จได้ทำการตกแต่งภายในด้วยหินอ่อนและแกรนิต จัดวางอัฐบริขารของหลวงปู่ชม ตู้แสดงหนังสือธรรมะที่ท่านเขียนไว้จำนวนมากมาย จัดทำแท่นรับสรีระธาตุภายในอาคารและแท่นวางรูปเหมือนของท่านที่ด้านหน้าอาคาร เมื่อเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.2552 เดือน 11 ปีฉลู หลวงพ่อเจ้าอาวาสได้นำคณะศิษยานุศิษย์ทำการอัญเชิญท่านประดิษฐาน ณ พิพิธภัณฑ์อนังคโณชม พร้อมทำการเจริญพิธีพุทธมนต์และทักษิณานุปทาน
ในขณะนี้ทางวัดทุ่งยาวได้ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถอยู่ ซึ่งแต่เดิมไม่เคยมี ได้วางศิลาฤกษ์เริ่มทำการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จนปัจจุบันนี้ก็ยังดำเนินการอยู่ รูปแบบเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นบนเป็นโบสถ์ ชั้นล่างเป็นศาลาเอนกประสงค์ ศิลปะผสมผสานไทยลาวประยุกต์ สำหรับญาติโยมพุทธศาสนิกชนที่มีจิตศรัทธาเลื่อมใสปรารถนาความพ้นจากทุกข์ มีหนทางไกลจากความกันดาร จากอุปสรรคและอุปัททวะทั้งหลาย เป็นผู้สั่งสมบุญบารมีเพื่อเข้าสู่สวรรค์นิพพานในกาลเบื้องหน้า จงมาร่วมกันสร้างบุญ สร้างกุศล สร้างโบสถ์วัดทุ่งยาวในโอกาสนี้ด้วยกันทุกท่านทุกคนเทอญ
สมณศักดิ์และเกียรติคุณ
ในระหว่างที่บวชมาไม่เพียงทำนุบำรุงภายในพระศาสนาให้รุ่งเรืองเท่านั้น แต่ท่านยังได้อุปถัมภ์การศึกษาแก่โรงเรียนบ้านทุ่งยาวและโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ด้วยการมอบทุนการศึกษา, มอบข้าวสารอาหารแห้งเป็นอาหารกลางวันเด็กนักเรียนและมอบรถจักรยานแก่เด็กที่อยู่ไกลโรงเรียน นอกจากนี้ยังได้มอบเครื่องคอมพิวเตอร์แก่สำนักงานประจำจังหวัด สำนักงานประจำอำเภอ สำนักงานประจำตำบล ที่ทำการกำนันบ้านทุ่งยาวและโรงเรียนทั้งสองแห่งด้วย
- พ.ศ. 2537 สอบได้นักธรรมชั้นเอก
- พ.ศ. 2539 พระวินัยธร
- พ.ศ. 2539 พระครูสังฆวุฒิกร
- พ.ศ. 2542 ได้รับประกาศเกียรติคุณจากหนังสือพิมพ์ฐานข่าว มอบรางวัลเชิดชูเกียรติในฐานะพระนักพัฒนาจิตใจแก่พุทธศาสนิกชน ช่วยเหลือสังคมด้วยการลดมลภาวะอากาศเป็นพิษ
- พ.ศ. 2544 กรรมการอุปถัมภ์ในการสอบนักธรรม
- พ.ศ. 2546 เจ้าอาวาสวัดทุ่งยาว
- พ.ศ. 2546 กรรมการกิตติมศักดิ์โรงเรียนไทยรัฐวิทยา
- พ.ศ. 2551 พระครูนวกิจจการี